คู่มือการดำเนินงาน
Genetics Bench Mark ในฟาร์มสำหรับ
การปรับปรุงพันธุ์สุกรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
 
Genetics Bench Mark Technology
บทนำการพัฒนาเทคโนโลยีการปรับพันธุ์สุกร

 
  บทนำ

บริษัท ไทย-ดัทช์ เจเนติกส์ จำกัด ได้มีวิสัยทัศน์ถึงอนาคตของอุตสาหกรรมการผลิตสุกรของประเทศ เมื่อพิจารณาภาพโดยองค์รวมแล้วพบว่า เทคโนโลยีพันธุกรรมของเรายังมีจุดอ่อนสำคัญที่ต้องการความรีบเร่งในการแก้ไข จึงได้พัฒนาเทคโนโลยี Genetics Bench Mark เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาพันธุกรรมซึ่งจะเป็นประโยชน์ที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาที่ยั่งยืน ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตรและการค้าเสรีที่ภาคการเกษตรของเราเสียเปรียบ อันเนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตต่ำและต้นทุนการผลิตสูง รวมทั้งการต้องนำเข้าเทคโนโลยีพันธุกรรมเพื่อการผลิตอยู่ตลอดเวลา เทคโนโลยี Genetics Bench Mark ประกอบด้วยกิจกรรมหลายด้านที่ต้องดำเนินไปพร้อม ๆ กัน ประกอบด้วย

- การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน
- การกำหนดเป้าหมายการปรับปรุงพันธุ์ (breeding objectives)
- การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตและค่าเศรษฐกิจ (economic value)
- กากำหนดมาตรฐานการทดสอบสมรรถภาพการผลิตในฟาร์มและการรวบรวมข้อมูลการผลิต
- การประเมินพันธุกรรม (genetics evaluation)
- การคัดเลือกและการผสมพันธุ์
- การพยากรณ์ประสิทธิภาพการผลิตในอนาคต
- การประชาสัมพันธ์ผลการประเมินพันธุกรรม

ซึ่งกิจกรรมที่กล่าวข้างต้นจะทำให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต การแลกเปลี่ยนแหล่งพันธุกรรมจากสถานีผสมเทียมของฟาร์มหนึ่งที่มี ค่าการผสมพันธุ์ (Breeding Value) ที่สูงกว่าไปยังสถานีผสมเทียมของอีกฟาร์มหนึ่ง เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางพันธุกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการสามารถเลือกใช้น้ำเชื้อและสุกรจากแหล่งที่ทราบค่าทางพันธุกรรมเข้ามาปรับปรุงจุดอ่อนของฟาร์มได้อย่างถูกต้อง ซึ่งผลนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อเกษตรกรผู้ทำฟาร์มสุกรส่วนใหญ่ของประเทศให้สามารถพึ่งพาตัวเอง การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอย่างมีทิศทาง รวมทั้งลดการนำเข้าสุกรพันธุ์จากต่างประเทศเพื่อลดภาวะการขาดดุลทางการค้า

 

Breeding Objectives

เป้าหมายของการปรับปรุงพันธุ์สุกรโดยทั่วไป กำหนดขึ้นจากความต้องการถึงผลสำเร็จในการดำเนินธุรกิจการผลิตสุกรภายใต้ภาวะการแข่งขันด้านประสิทธิภาพการผลิตและต้นทุนการผลิต เป็นการกำหนดทิศทางอย่างกว้าง ๆ ที่มีความสำคัญเกี่ยวกับผลตอบแทนที่ได้รับ ต้นทุนการผลิตและคุณภาพของผลผลิต ดังมีเป้าหมายหลักที่ต้องกำหนดไว้ดังนี้

1. ทำการปรับปรุงประสิทธิภาพการเจริญเติบโตให้เพิ่มขึ้น ในขณะที่กินอาหารเท่าเดิมหรือน้อยลง
2. ทำการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้อาหารให้เพิ่มขึ้น
3. ทำการปรับปรุงคุณภาพซากโดยให้มีเปอร์เซ็นต์เนื้อแดงเพิ่มขึ้น ขณะที่ความหนาของไขมันสันหลังลดลง

4. ทำการปรับปรุงให้แม่พันธุ์มีความสามารถในการผลิตสูงขึ้น (sow productivity index, SPI)
5. การปรับปรุงให้อัตราการตายก่อนหย่านมและการสูญเสียระหว่างขุนลดลง
6. การปรับปรุงให้ระยะเวลาการผสมหลังหย่านมสั้นลง

ค่าเศรษฐกิจ (Economic Values)

เป้าหมายของการปรับปรุงพันธุ์ (breeding objectives) ที่กำหนดไว้ข้างต้นล้วนมีความสำคัญต่อผลกำไรของฟาร์ม โดยแต่ละลักษณะที่กำหนดไว้ในเป้าหมายมีผลต่อต้นทุนการผลิตและรายได้ที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องทำการคำนวณค่าผลตอบแทนเป็นเงินที่จะได้รับจากประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงพันธุกรรม ค่าผลตอบแทนนั้นเรียกว่า ค่าเศรษฐกิจ (economic values) ซึ่งค่าเศรษฐกิจในประเทศไทยได้มีการศึกษากันน้อยมาก ค่าที่คำนวณได้ในแต่ละระบบการผลิตของฟาร์มแต่ละพื้นที่จะมีค่าแตกต่างกัน รวมทั้งการให้ความสำคัญในแต่ละลักษณะก็มีความแตกต่างเช่นกัน ดังนั้นการรายงานจึงเป็นค่าเฉพาะของฟาร์ม ดังได้แสดงในตารางที่ 1 นอกจากนี้ในบางลักษณะที่มีความสำคัญ เช่น คุณภาพซาก ประเทศไทยเรายังไม่มีการกำหนดมาตรฐานในการซื้อขายตามเกรดของซาก ดังนั้นจึงใช้การคำนวณโดยประมาณที่สมเหตุสมผลเทียบเคียงกับต่างประเทศ และคาดว่าการกำหนดราคาซื้อขายตามเกรดของซากจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ในอนาคต