คู่มือการดำเนินงาน
Genetics Bench Mark ในฟาร์มสำหรับ
การปรับปรุงพันธุ์สุกรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
 
การดำเนินการ Genetics Bench Mark ในฟาร์ม
 
 


การดำเนินการวางระบบจัดเก็บข้อมูลโดยการกำหนดมาตรฐานการทดสอบสมรรถภาพการผลิตภายในฟาร์ม ให้เป็นมาตรฐานอันเดียวกัน ได้แก่ ลักษณะการเจริญเติบโตและคุณภาพซาก (production และ carcass trait) โดยเครื่อง Real time ultrasound ทำให้ได้ข้อมูลที่มีความเที่ยงตรงและผิดพลาดน้อยที่สุด การรวบรวมข้อมูลลักษณะการสืบพันธุ์ (reproductive trait) ที่ฟาร์มส่วนใหญ่ได้มีการจัดเก็บในการ์ดประจำตัวแม่พันธุ์ และข้อมูลที่บันทึกในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้จัดการฟาร์ม

การวิเคราะห์ข้อมูลราคาและต้นทุนการผลิต

เป็นการรวบรวมข้อมูลทางด้านการตลาดและต้นทุนการผลิตในฟาร์มแล้วทำการวิเคราะห์ค่าทางเศรษฐกิจ (economic value) ที่เป็นส่วนสำคัญสำหรับรายได้และกำไรที่จะได้จากการคัดเลือกใช้สุกรที่มีพันธุกรรมดีเยี่ยม (elite genetic) ในการผลิตของฟาร์ม

การประเมินพันธุกรรม (genetics evaluation)

เจ้าของฟาร์มเลี้ยงสุกรต้องการใช้สุกรที่มีพันธุกรรมดีสำหรับใช้ในการผลิต เพราะจะทำให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องการคัดเลือกสุกรที่มีพันธุกรรมดีเข้ามาใช้ผลิตและทดแทนพ่อ-แม่พันธุ์ในปัจจุบัน แต่สมรรถภาพการผลิตที่ปรากฏ (phenotype) ทั้งจากการผลิตและจากการทดสอบในฟาร์มนั้น เป็นผลที่เกิดจากปัจจัยทั้งของพันธุกรรม สภาพแวดล้อมและผลร่วมของพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องทำการประเมินพันธุกรรมในตัวสัตว์ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ผลิตให้ความสนใจ เนื่องจากสามารถถ่ายทอดจากตัวสัตว์ไปให้กับลูกได้ ขณะปัจจัยสภาพแวดล้อมนั้นไม่สามารถถ่ายทอดได้ และใช้ข้อมูลการประเมินพันธุกรรมในการคัดเลือกสุกรแทนการคัดเลือกจากลักษณะปรากฏ โดยผลการประเมินจะแสดงในรูปแบบของค่าการทำนายผลสมรรถภาพการผลิตของลูกที่จะเกิดจากตัวสุกรเอง (expected progeny difference, EPD)

ข้อมูลสมรรถภาพการผลิตของสุกรทุกตัวในพันธุ์ประวัติ ได้รับการประเมินพันธุกรรมด้วยเทคโนโลยี Best Linear Unbiased Prediction (BLUP) Multiple Traits Animal Model โดยสามารถประเมินพันธุกรรมสุกรทุกตัวในพันธุ์ประวัติตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และทำนายสมรรถภาพการผลิตของลูกที่ยังไม่ให้ผลผลิตหลาย ๆ ลักษณะได้พร้อมกัน อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการตัดสินใจคัดเลือกสุกรในฟาร์ม

ส่วนในลักษณะการสืบพันธุ์ได้ใช้ BLUP Multiple Traits Repeatability Animal Model เนื่องจากข้อมูลการสืบพันธุ์นั้นได้มีการวัดข้อมูลซ้ำอันเกิดจากการคลอดในแต่ครอกของแม่พันธุ์ ทำให้สามารถวัดพารามิเตอร์สภาพแวดล้อมในตัวสัตว์ที่สำคัญ คือ อัตราซ้ำ (repeatability) และประเมินความดีเด่นของความสม่ำเสมอในการให้ผลผลิตในครั้งต่อไป เช่น จำนวนลูกต่อครอก และน้ำหนักเฉลี่ยเมื่อหย่านม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลต่อความถูกต้องของค่าทำนายสมรรถภาพการผลิตของลูก (expected progeny difference) ที่ประมาณได้จากข้อมูลด้วย