คู่มือการดำเนินงาน
Genetics Bench Mark ในฟาร์มสำหรับ
การปรับปรุงพันธุ์สุกรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
 
เกณฑ์ในการคัดเลือกสุกร (Selection Criteria)
 
 

บทนำ

การคัดเลือกเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าทางพันธุกรรมซึ่งจะใช้ข้อมูลลักษณะที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่ได้ประเมินพันธุกรรมและนำไปใช้เป็นเกณฑ์เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการปรับปรุงพันธุ์ที่ได้กำหนดไว้ โดยลักษณะที่กำหนดในเกณฑ์การคัดเลือกนั้น ได้คำนึงถึงความง่ายในการทดสอบ มีค่าใช้จ่ายไม่สูง มีความถูกต้องในการวัดและมีผลในทางเศรษฐกิจมาก ซึ่งมีดังต่อไปนี้

ลักษณะการให้ผลผลิตและคุณภาพซาก

- การเจริญเติบโตต่อวัน (average daily gain, ADG)
- ความหนาของไขมันสันหลัง(back fat, BF)
- เปอร์เซ็นต์เนื้อแดง (%Lean)
- จำนวนวันขุนถึงน้ำหนัก 104.5 ก.ก.

ลักษณะการสืบพันธุ์

- จำนวนลูกแรกเกิดมีชีวิตต่อ
ครอก (number born alive, NBA)
- น้ำหนักเฉลี่ยเมื่อหย่านม
(average litter weaning weight)


EPD-INDEX ดัชนีการคัดเลือก

ลักษณะสำคัญทางเศรษฐกิจที่ได้กล่าวมาแล้วใน selection criteria มีหน่วยวัดที่ต่างกัน เช่นการเติบโตต่อวันมีหน่วยวัดเป็น กรัม/วัน จำนวนลูกแรกเกิดมีชีวิตแรกคลอดมีหน่วยวัดเป็น จำนวนตัวเป็นต้น รวมทั้งค่าเศรษฐกิจและความสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม (heritability) ก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการใช้ตัวเลขเพียงค่าเดียวโดยใช้ดัชนี ย่อมจะทำให้ง่ายในการเปรียบเทียบความดีเด่นของสุกรแต่ละตัวเพื่อใช้ในการตัดสินใจ ดัชนีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มีดังนี้

TSI (Terminal Sire Index)

ใช้สำหรับคัดเลือกพ่อพันธุ์สำหรับการผสมข้ามพันธุ์ในการผลิตพ่อ-แม่พันธุ์ (parent stock) และหมูขุน เป็นดัชนีที่ให้น้ำหนักลักษณะการเจริญเติบโตและคุณภาพซากเป็นหลัก

MLI (Maternal Line Index)

ใช้ในการคัดเลือกแม่สุกรสาวทดแทนสำหรับการผลิตปู่-ย่าพันธุ์ (GP) และพ่อ-แม่พันธุ์ และพ่อพันธุ์ที่ใช้ในการผลิตแม่สุกรสาวทดแทน โดยเน้นการให้น้ำหนักลักษณะขนาดครอกแรกเกิด การเติบโตและคุณภาพซาก

SPI (Sow Productivity Index)

ใช้ในการคัดเลือกแม่พันธุ์ทดแทนในนิวเคลียส (great grand parent, GGP) โดยเน้นลักษณะการสืบพันธุ์ ได้แก่ ขนาดครอกแรกเกิด และลักษณะความเป็นแม่ (maternal ability) คือ น้ำหนักครอกเฉลี่ยเมื่อหย่านม

ในการคัดเลือกหลาย ๆ ลักษณะพร้อมกันโดยใช้ผลของค่า EPD จากการประเมินพันธุกรรมด้วย BLUP เรียกว่า EPD-INDEX การคัดเลือกยังสามารถให้น้ำหนักกับลักษณะที่เป็นจุดอ่อนของฟาร์ม เพื่อให้สอดคล้องกับการผลิต เช่น ฟาร์มมีปัญหาด้านการเติบโตและคุณภาพซากที่ต่ำ ขณะที่ต้องการรักษาลักษณะจำนวนลูกมีชีวิตแรกเกิด ซึ่งดีอยู่แล้วให้คงไว้ ก็สามารถสร้างดัชนีเน้นการคัดเลือกการเติบโต ความหนาของไขมันสันหลัง และเปอร์เซ็นต์เนื้อแดงและคัดเลือกสุกรที่มี EPD ของจำนวนลูกมีชีวิตแรกเกิดไม่ต่ำกว่าเฉลี่ยทั้งในเพศผู้และเพศเมียมาใช้ในการผสมพันธุ์ ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องตรงตามความต้องการ