คู่มือการดำเนินงาน
Genetics Bench Mark ในฟาร์มสำหรับ
การปรับปรุงพันธุ์สุกรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
 
Sire-Dam Summary
รายงานผลการประเมินพันธุกรรม


 
 

บทนำ

เนื่องจากเป็นการประเมินพันธุกรรมสัตว์ทุกตัวในระดับนิวเคลียส (GGP) และปู่ย่า-พันธุ์ (GP) ทั้งหมดในฟาร์ม เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ จึงได้ทำรายงานออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้คือ รายงานผลการประเมินพันธุกรรมพ่อพันธุ์ทั้งหมด (sire summary) รายงานผลการประเมินพ่อพันธุ์สุกรหนุ่ม (young sire summary)รายงานผลการประเมินพันธุกรรมแม่พันธุ์ทั้งหมดในฟาร์ม (dam summary) และรายงานผลการประเมินพันธุกรรมสุกรที่เข้าทดสอบในฟาร์ม (tested pig summary report) โดยแบ่งเป็นรายงานสุกรเพศผู้ และรายงานสุกรเพศเมีย ดังมีรายละเอียดอธิบายให้เกิดความเข้าใจในเบื้องต้น ดังนี้

Sire Summary

เป็นข้อมูลสรุปผลการประเมินพันธุกรรมของพ่อพันธุ์ที่ใช้ผสมพันธุ์ในพันธุ์ประวัติทั้งหมดซึ่งจะมีทั้ง ปู่ (Paternal grand sire , PGS) ตา (Maternal grand sire , MGS) และพ่อพันธุ์ที่ใช้ผสมเทียมในปัจจุบัน (Active sire) การใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการประเมินผลความดีเด่นทางพันธุกรรมของพ่อพันธุ์และใช้ในการคัดเลือกพ่อพันธุ์ที่ใช้ในปัจจุบันตามความดีเด่นที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจของฟาร์ม รวมทั้งใช้เป็นข้อมูลในการคัดทิ้งสุกรพ่อพันธุที่ด้อยออกจากกลุ่มพ่อพันธุ์ที่ใช้ผสมเทียม เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยรวมในฝูง

Young Sire Summary

ข้อมูลการทดสอบพ่อพันธุ์สุกรหนุ่มที่มีข้อมูลการทดสอบน้อยกว่า 20 บันทึก หรือมีความแม่นยำน้อยกว่า 0.50 เพื่อใช้เป็นข้อมูลการจัดการความเสียงที่เกิดขึ้นจากการเลือกใช้พ่อพันธุ์จากกลุ่มนี้

Dam Summary

เป็นข้อมูลสรุปผลการประเมินพันธุกรรมของแม่พันธุ์ทั้งหมดในพันธุ์ประวัติ ได้แก่ ย่า ( Paternal grand dam , PGD) ยาย (Maternal grand dam , MGP) และแม่พันธุ์ในฟาร์ม ปัจจุบัน (active dam) ประโยชน์ที่ได้จากข้อมูลนี้เพื่อใช้ในการคัดเลือกแม่พันธุ์ที่มีความดีเด่นทางพันธุกรรม สำหรับผสมพันธุ์กับพ่อพันธุ์ที่มีความดีเด่น ในการผลิตลูกสุกรที่มีพันธุกรรมยอดเยี่ยม

รายงานผลการประเมินพันธุกรรมสุกรที่เข้าทดสอบในปัจจุบัน (Tested Pig Summary Report)

เป็นข้อมูลสรุปผลการประเมินพันธุกรรมของสุกรทั้งเพศผู้และเพศเมียที่เข้าทดสอบในฟาร์ม ซึ่งความดีเด่นของสุกรที่เข้าทดสอบเกิดจากพันธุกรรมของพ่อ-แม่และบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดมายังตัวสัตว์ การประเมินพันธุกรรมครั้งนี้จึงสามารถใช้ข้อมูลจากตัวสัตว์เอง พี่ น้องต่างครอกและครอกเดียวกัน (full sibs, haft sibs) รวมทั้งข้อมูลของพ่อและแม่พร้อมกัน ผลการประเมินนี้เพื่อใช้คัดเลือกสุกรทดแทนในฝูงเพื่อผลิตลูกในชั่วต่อไป

ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากข้อมูล EPD จาก sire-dam summary

ในรายงาน Sire summary พ่อเบอร์ 0318 มี EPD ของลักษณะขนาดครอกของลูกแรกเกิด 0.63 ในพ่อเบอร์ 421
เท่ากับ -0.66 ตัว/ครอก จะพบว่าลูกที่เกิดจากพ่อ 0318 จะมีพันธุกรรมขนาดครอกแรกเกิดมากกว่าลูกที่เกิดจากพ่อ 421 เท่ากับ 0.63-(-0.66) = 1.29 ตัว/ ครอกในรายงาน Dam summary แม่เบอร์ 2804 มี EPD ขนาดครอกของลูกแรกเกิดเท่ากับ 1.72 ตัว/ครอก เมื่อเทียบกับแม่พันธุ์เบอร์ 1902 ซึ่งมี EPD เท่ากับ -0.46 ลูกที่เกิดจากแม่ 2804 จะมีค่าเฉลี่ยจำนวนลูกมากกว่าลูกที่เกิดจากแม่เบอร์ 1902 เท่ากับ 1.72 - (-0.46)
= 2.18 ตัว / ครอก