คู่มือการดำเนินงาน
Genetics Bench Mark ในฟาร์มสำหรับ
การปรับปรุงพันธุ์สุกรด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่
 
Breeding Value และ Expected Progeny Difference
การจัดการและการใช้ประโยชน

 
 

Breeding Value และ EPD คืออะไร ?

ผลการประเมินพันธุกรรมด้วย BLUP ของลักษณะการผลิต คุณภาพซากและการสืบพันธุ์ ผลที่ได้ คือ ค่าประมาณค่าการผสมพันธุ์ (Estimated breeding value, EBV) ซึ่งเป็นค่าความดีเด่นของพันธุกรรมในตัวสัตว์ที่สามารถถ่ายทอดไปไห้กับลูกได้ โดยค่าทำนายสมรรถภาพการผลิตในลูกที่เกิดจากตัวสัตว์ คือ EPD (expected progeny difference) ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของค่าการผสมพันธุ์ ที่ประมาณได้นั่นเอง (EBV/2) ปัจจุบันรายงานผลสรุปการประเมินพันธุกรรมของต่างประเทศ ที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์เพื่อขายพันธุกรรม ทั้งขายสัตว์มีชีวิตและน้ำเชื้อ นิยมรายงานในรูปแบบของค่า EPD เป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้ผู้ผลิตได้เลือกซื้อมาใช้ในการผลิต ซึ่งราคาน้ำเชื้อหรือสัตว์เองก็ขึ้นอยู่กับความสูงต่ำและความแม่นยำ (accuracy) ของ EPD

ความแม่นยำของ EPD

ความเชื่อมั่นในการเลือกใช้สัตว์จาก EPD เพื่อใช้ในการผลิตในฝูง ให้พิจารณาค่าความแม่นยำของค่า EPD ประกอบด้วย โดยค่าจะมีอยู่ในช่วง 0.01 ซึ่งหมายถึง มีความแม่นยำต่ำที่สุด ถึง 0.99 หมายถึง มีความแม่นยำมากที่สุด ซึ่งจะเป็นการแสดงค่าความเชื่อมั่นของค่าที่ได้จากการประเมินกับค่า EPD ที่แท้จริงในตัวสัตว์ ข้อแนะนำในการเลือกใช้ค่า EPD ต้องมีความแม่นยำเท่ากับ 0.50 หรือมากกว่าขึ้นไป ส่วนพ่อสุกรที่มีค่าความเชื่อมั่นต่ำกว่า 0.50 ให้ทำการทดสอบสมรรถภาพการผลิตต่อไปจนกว่าค่าความแม่นยำเท่ากับ 0.50 จึงนำมาใช้ในการผลิตได้อย่างมั่นใจ ค่า EPD และความแม่นยำจะมีการเปลี่ยนแปลงตามจำนวนของข้อมูลที่เพิ่มขึ้น

การจัดการความเสี่ยงทางพันธุกรรม

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเลือกใช้ EPD ที่มีความแม่นยำต่ำกว่า 0.50 โดยในพ่อพันธุ์ควรทำการคัดเลือกจำนวนที่มากพอประมาณ 10-15% จากกลุ่มที่มี index สูง ๆ ในการผสมเทียม แล้วทำการทดสอบลูก (progeny test) จำนวน 20 ตัวขึ้นไป หรือจำนวน 20 ข้อมูลขึ้นไป เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงของค่า EPD ของพ่อพันธุ์เมื่อมีข้อมูลการทดสอบมากขึ้น ค่าที่เคยสูงอาจจะลดลงในอนาคตและที่เคยต่ำอาจจะสูงขึ้น ในระหว่างการทดสอบพ่อสุกรหนุ่มที่มีความเชื่อมั่นระหว่าง 0.01-0.49 จะมีการแยกรายงานของกลุ่มพ่อพันธุ์นี้ออกไปเป็นรายงานพ่อพันธุ์สุกรหนุ่ม (young sire summary) เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถคัดทิ้งพ่อสุกรที่มีแนวโน้มประสิทธิภาพการผลิตต่ำและคัดพ่อสุกรที่มี index สูงในการทดสอบต่อไป

การใช้ EPD ในแผนการปรับปรุงพันธุ์ในฟาร์ม

จากตัวอย่างรายงาน sire dam summary ในตารางที่ 2 ผู้ผลิตสามารถเลือก ใช้ข้อมูลสำหรับการผสมพันธุ์ในฟาร์ม ดังตัวอย่างที่แสดงดังนี้

# ถ้าผู้ผลิตต้องการเลือกพ่อพันธุ์ผสมกับแม่พันธุ์แท้ในฟาร์ม โดยต้องการปรับปรุงให้แม่พันธุ์มีขนาดครอกแรกเกิดเพิ่มขึ้น ขณะที่มีการเจริญเติบโตคงที่หรือเพิ่มขึ้น
พบว่าพ่อพันธุ์ เบอร์ 100230031 จะถูกคัดเลือกใช้ผสมพันธุ์ ซึ่งมี EPD ขนาดครอกแรกเกิดเพิ่มขึ้นเท่ากับ 0.21 ตัว/ครอก ขณะที่มี EPD ADG เท่ากับ 16.35 กรัม/วัน นอกจากนี้พ่อพันธุ์เบอร์ 100230015 สามารถใช้ผสมในฝูงได้เช่นกัน

# ถ้าต้องการคัดเลือกพ่อพันธุ์ เพื่อเพิ่มขนาดครอกแรกเกิดให้มากที่สุดเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจลักษณะอย่างอื่น
พบว่าพ่อพันธุ์ที่ถูกคัดเลือกใช้ผสมพันธุ์คือ พ่อเบอร์ 100230036 ซึ่งมี EPD ขนาดครอกแรกเกิดสูงที่สุดในกลุ่มพ่อพันธุ์ เท่ากับ 0.60 ตัว/ครอก

# ถ้าต้องการคัดเลือกพ่อพันธุ์สำหรับผสมพันธุ์โดยต้องการรักษาระดับลักษณะต่าง ๆ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจให้สมดุลกัน
พ่อพันธุ์ที่ถูกคัดเลือก คือ 100230031 ซึ่งมี MLI เท่ากับ 138 ที่มี EPD ขนาดครอกแรกเกิดเพิ่มขึ้นเท่ากับ 0.21 ตัว/ครอก มี EPD น้ำหนักหย่านมเพิ่มขึ้นเท่ากับ 0.165 กก. มี EPD ความหนาไขมันหลังเท่ากับ -0.03 ซ.ม. และมี EPD ADG เพิ่มขึ้นเท่ากับ 16.35 กรัม/วัน

# ถ้าต้องการคัดเลือกพ่อพันธุ์เพื่อใช้ผสมพันธุ์กับแม่หมูสองสายเลือดเพื่อผลิตหมูขุน
พ่อพันธุ์ที่ถูกคัดเลือก คือ พ่อเบอร์ 100230031 ที่มี TSI เท่ากับ 142 โดยมีความหนาของไขมันหลังลดลง มี EPD เท่ากับ -0.03 และมี EPD ADG เพิ่มขึ้น 16.35 กรัม/วัน นอกจากนี้พ่อพันธุ์ที่มี TSI สูงกว่า 100 ก็สามารถใช้ผสมพันธุ์ได้เช่นกัน